...ผู้ใด พึงบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้นำของโลก ขณะยังทรงพระชนม์อยู่ก็ดี พึงบูชาพระธาตุ แม้ประมาณเท่าเมล็ดพันธ์ผักกาด ของพระองค์แม้ปริพนิพพานแล้วก็ดี เมื่อจิตของผู้นั้นเลื่อมใสเสมอกัน บุญก็ย่อมเสมอกัน...
พระบรมสารีริกธาตุ พระอรหันตธาตุ และอัฐิธาตุ สิ่งอันสูงค่าแห่งพระพุทธศาสนา ยัสมิง สะยิงสุ ชินะธาตุ วะราสะมันตา ฉัพพัณณะรังสิ วิสะเรหิ สมุชชะลันตา ตัสสะ โลกะหิตะเหตุ ชินัสสะ ถูบังตัง ถูปะมัพภูตตะมัง สิระสานะมิตะวา “พระบรมธาตุอันประเสริฐทั้งหลายของพระพุทธเจ้ารุ่งเรืองโดยรอบ ด้วยถ่องแถวแห่งพระรัศมี ๖ ประการ ประดิษฐานอยู่ ณ สถูปองค์ใด ข้าพเจ้าขอน้อมบูชาพระสถูปอันบรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น อันเป็นเหตุให้เกิดประโยชน์แก่โลก อันน่าอัศจรรย์ยิ่งนั้น ด้วยเศียรเกล้า” 
( จากอารัมภกถาในพระคัมภีร์ถูปวงศ์ ตำนานว่าด้วยการสร้างพระสถูปเจดีย์ พระวาจิสสรเถระ พระเถระชาวลังกา ได้รจนาไว้เมื่อ ๗๐๐ ปีเศษมาแล้ว ระหว่างราว พ.ศ. ๑๗๗๙ – ๑๘๑๕ หรือระหว่าง พ.ศ. ๑๗๗๓ – ๑๘๐๓ )
บูชาพระธาตุ
พระบรมสารีริกธาตุ เป็นปูชนียวัตถุที่ทรงไว้ด้วยคุณค่า ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ และ ศาสนา อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่สูงค่า ควรแก่การเคารพบูชาอย่างสูงสุด หากท่านผู้ใดมีโอกาสได้เก็บรักษาไว้ ขอท่านจงบูชาด้วยความเคารพ เนื่องจากพระบรมสารีริกธาตุนั้นหาได้ยาก และยังเป็นสิ่งที่ประเสริฐสุดในไตรภพที่มนุษย์และเทวดาพึงสักการะ  | วิธีบูชาพระบรมสารีริกธาตุ การจะบูชาพระบรมสารีริกธาตุนั้นก่อนอื่นต้องชำระล้างร่างกาย ทำจิตใจ ให้สะอาดผ่องใส จัดหาดอกมะลิใส่ภาชนะบูชา ตั้งสักการะ ณ ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ แล้วจุดธูปและเทียน ตั้งใจให้เป็นสมาธิ กราบ 3 ครั้ง แล้วจึงตั้งนะโม 3 จบ กล่าวคำบูชาพระบรมสารีริกธาตุ คำกล่าวบูชาพระบรมสารีริกธาตุ มีอยู่มากมายทั้งภาษาบาลี และภาษาไทย แต่ที่พบเห็นกันอยู่โดยทั่วไป และกระทำได้โดยง่ายนั้นคือ คำกล่าวพรรณนาพระบรมสารีริกธาตุ " อะหัง วันทามิ ทูระโต อะหัง วันทามิ ธาตุโย อะหัง วันทามิ สัพพะโส " *คำกล่าวอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ก็สามารถนำมาใช้กล่าวบูชาได้เช่นกัน* |
การบูชาพระธาตุนั้น นอกเหนือจากการบูชาด้วย "อามิสบูชา" เช่น การบูชาด้วยดอกไม้ ธูปเทียน และ เครื่องหอมต่างๆแล้ว การบูชาด้วยการ "ปฏิบัติบูชา" ซึ่งเป็นวิธีที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ เป็นอีกวิธีการหนึ่ง ที่นิยมปฏิบัติควบคู่ไปด้วย ในการบูชาซึ่งพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุทั้งหลาย โดยทั่วไปนิยมปฏิบัติตามแนวอริยมรรค 8 ประการ สรุปโดยย่อได้แก่ 1. การบูชาด้วยศีล ซึ่งศีลเป็นพื้นฐานและเป็นที่ตั้งมั่นแห่งการทำความดี เป็นเกราะป้องกันความชั่วทั้งปวง ไม่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ทำให้เกิดความพร้อมต่อการปฏิบัติสมาธิ (สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ) 2. การบูชาด้วยสมาธิ ซึ่งการสวดมนต์ภาวนา นั่งสมาธิ ดูลมหายใจเข้า-ออก เป็นการฝึกความเข้มแข็งของจิต ให้มีกำลังในการพิจารณาหลักธรรมต่างๆได้ตามความเป็นจริง (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ) 3. การบูชาด้วยปัญญา คือการใช้ปัญญาพิจารณาหลักความเป็นจริง ตามหลักไตรลักษณ์ (สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ) กำหนดการ พิธีอัญเชิญและสมโภชพระบรมสารีริกธาตุ เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลอง พุทธชยันตี ๒๖๐๐ แห่งการตรัสรู้ ณ วัดป่าวิเวก ตำบลหว้านใหญ่ อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร ********************
เวลา ๑๔ . ๐๐ น. - อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นสู่รถตกแต่งบุปผาชาติ แห่ไปรอบอำเภอหว้านใหญ่ตามเส้นทางที่กำหนดถึง ทางเข้าวัดป่าวิเวก - ข้าราชการ แขกผู้มีเกียรติพร้อมกันบริเวณ สามแยก ทางเข้าวัด จัดริ้วขบวนแห่อัญเชิญ พระบรมสารีริกธาตุ เข้าสู่วัดป่าวิเวก แห่อัญเชิญรอบพระอุโบสถ ๓ รอบ - ประธานพิธี อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐาน ณ วิหารพระพุทธไสยาสน์ เพื่อประกอบพิธีสมโภช เวลา ๑๖ . ๐๐ น. - ลงทะเบียนบวชชี - พราหมณ์ เวลา ๑๙ . ๐๐ น. - พิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เวลา ๒๐ . ๐๐ น. - พิธีสมโภช - นายอำเภอหว้านใหญ่ ประธานพิธีเดินทางบริเวณงาน - ประธานพิธีจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย - เจ้าหน้าที่อาราธนาศีล - ประธานสงฆ์ให้ศีล - ประธานพิธีและผู้เข้าร่วมพิธีรับศีล - เจ้าหน้าที่อาราธนาพระปริตร - พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ จบ - ประธานพิธีและแขกผู้มีเกียรติถวายจตุปัจจัยไทยธรรม - พระสงฆ์อนุโมทนา - ประธานในพิธีกรวดน้ำ รับพร - ประธานในพิธีอัญเชิญพระบรม สารีริกธาตุ ประดิษฐาน ณ บุษษก และ ถวายเครื่องสักการะบูชา - เสร็จพิธี เวลา ๒๑ . ๐๐ น. – พิธีพุทธาภิเษกตลอดคืน
|